Wednesday, October 3, 2007

ความเป็นไปได้ในเชิงธุรกิจ

ในเรื่องธุรกิจขยะ ผมมองว่ามันไม่ง่าย เพราะโดยพื้นนิสัยคนไทยเรา การจะสร้างจิตสำนึก ให้จัดการกับ ขยะนั้น ยังห่างไกล แต่เมื่อกระโดดลงมาทำจริงๆ แล้ว ผมเห็นว่า เป็นงานที่มีประโยชน์ ต่อส่วนรวม จึงมุ่งเป้าไปที่ อยากให้ ความรู้ แก่บุคคลทั่วๆ ไป อันดับแรกเพื่อให้เขา มีจิตสำนึกก่อนว่า การจัดการ กับขยะนั้น เป็นเรื่องง่ายๆ เพียงแต่เรา มักมองข้ามไป เพราะเมื่อพูดถึงเรื่องขยะ คนเรามักจะเกิดอาการ ที่เรียกว่าแพ้ความรู้สึก โดยเกิดความรังเกียจว่า เป็นของสกปรก เหม็น ซึ่งพอเกิด ความรู้สึกขึ้น คนก็จะ หาทางหลีกเลี่ยง ก็เลยคล้ายกับ เป็นการหนีปัญหา ตรงนี้ ผมอยากให้ทุกคน หันมามอง และคิดให้ดีว่า ใครเป็นผู้สร้างขยะ คำตอบก็คือ ตัวเราแต่ละคนนี่แหละ ที่เป็นผู้สร้างขยะ ไม่มีสัตวโลกชนิดไหนสร้างหรอก
ขณะนี้มนุษย์สร้างขยะจาก ๒ สิ่งใหญ่ๆ คือ ขยะจากความสะดวกสบาย และ ขยะจากเทคโนโลยี ขยะจาก ความสะดวกสบาย เช่น บรรจุภัณฑ์ต่างๆ เดี๋ยวนี้เรากินข้าว ก็เริ่มไม่ใช้จานกันแล้ว เราใส่กล่องแทน เพื่อความรวดเร็ว สมัยก่อนซื้อก๋วยเตี๋ยวก็ห่อใบตอง ต่อมาก็เป็นกระดาษ ที่มีพลาสติกวางข้างบน ต่อมาก็ใช้ พลาสติก เคลือบบนกระดาษ ขณะนี้เปลี่ยนมาใช้กล่องโฟมแล้ว เราพัฒนาบรรจุภัณฑ์ไปเรื่อยๆ สู่ความทันสมัย รวดเร็ว ท้ายที่สุด บรรจุภัณฑ์ทันสมัยเหล่านี้ ก็ย่อยสลายยากขึ้นทุกที
ขยะจากเทคโนโลยี ตัวอย่างเช่น เริ่มจากเครื่องคิดเลข ที่กำลังล้าสมัย เพราะมีคอมพิวเตอร์เข้ามาแทน วัสดุพวกนี้ ทำลายยาก และยังมีโลหะปนเปื้อนเยอะมาก นับวันพัฒนาการที่เกิดจากเทคโนโลยีใหม่ๆ จะกำจัดยากขึ้นทุกที สิ่งเหล่านี้ มนุษย์เป็นผู้สร้างล้วนๆ ถ้าเราไม่หันกลับมาแก้ที่ต้นเหตุ ต่อไปปัญหา จะหมักหมม จนแก้ไขยากยิ่งขึ้น ดังนั้น เราควรหันกลับมาดูว่า สาเหตุเหล่านี้มาจากอะไร ขณะนี้เท่าที่ ผมทราบ ในต่างประเทศกำลังทำอยู่ เช่น ผู้ผลิต โทรทัศน์ เมื่อเครื่องหมดอายุ ผู้ผลิตต้องรับผิดชอบ นำกลับไปทำลาย หรือ นำกลับไปรีไซเคิลมาใช้ได้ใหม่
ทุกอย่างในโลกควรรีไซเคิลได้เหมือนวัสดุธรรมชาติ เมื่อสร้างอะไรขึ้นมา ธรรมชาติก็สามารถย่อยสลายได้ อันที่จริง นักวิทยาศาสตร์ทั้งหลาย จะคิดสร้างอะไร ก็น่าจะคิดเรื่อง การย่อยสลายสิ่งนั้น ควบคู่ไปด้วย ตัวอย่าง คนที่คิด เรื่องพลาสติก เขาเก่งมาก เพราะมีความสามารถผลิต สิ่งที่มีความคงทนต่อกรดต่อด่าง ต่อการกัดกร่อน จนที่สุด ยากต่อการทำลาย ดังนั้นเราต้องเอาโจทย์ข้อนี้ใส่เข้าไปด้วย และควรต้องคิด ในลักษณะอย่างนี้

ที่มา:เราคิดอะไร ฉบับที่ ๑๔๓ มิถุนายน ๒๕๔๕

No comments: